ประเภทของความพิการ
ศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์
22 ธ.ค. 2567
ความพิการผิดรูปบนใบหน้าและศีรษะ (craniofacial deformities) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- ความพิการที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired craniofacial deformities)
- ความพิการที่เป็นแต่กำเนิด (congenital craniofacial deformities)
ACQUIRED
ความพิการที่เกิดขึ้นภายหลัง (acquired craniofacial deformities)
ความพิการผิดรูปเกิดขึ้นหลังคลอดและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโรคชนิดที่เป็นแต่กำเนิดแล้วมาแสดงอาการหลังคลอด
ความพิการในกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น
- ความพิการที่เกิดจากการบาดเจ็บ (trauma) - อุบัติเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะในที่พักอาศัย บนท้องถนน ที่ทำงาน โรงงานอุตสาหกรรม การบาดเจ็บเนื่องจากการทำร้ายร่างกาย สงคราม ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เหตุเหล่านี้เป้นภาระอันหนักหน่วงสำหรับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย หลาย ๆ อย่างเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่กลับไม่ได้รับการจัดการอย่างจริงจัง มีผู้คนจำนวนมากในบ้านเราที่กลายเป็นผู้พิการ สูญเสียอวัยวะ หรือใบหน้าและศีรษะผิดรูปอย่างถาวร หมดความมั่นใจในตนเอง ขาดความนับถือตนเอง และรายคนช่วยตนเองไม่ได้ กลายเป็นภาระของสังคม
- ความพิการอันเนื่องมาจากเนื้องอก (tumor) - เนื้องอกทั้งที่เป็นมะเร็งและไม่เป็นมะเร็งสามารถขึ้นบนใบหน้า ศีรษะ ภายในช่องจมูกช่องปาก แม้จะไม่ใช่มะเร็ง การกำจัดเนื้องอกด้วยวิธีการต่าง ๆ อาจทิ้งไว้ซึ่งความพิการผิดรูปบนใบหน้าและศีรษะ และหากเป็นมะเร็ง โอกาสที่จะมีความพิการผิดรูปก็ยิ่งสูงขึ้น
- ความพิการที่เกิดจากการติดเชื้อ (infection) - มีการติดเชื้อหลายชนิดที่เกิดขึ้นบนใบหน้าจนนำไปสู่ความพิการผิดรูปได้
CONGENITAL
ความพิการที่เป็นแต่กำเนิด (congenital craniofacial deformities)
มีวิธีการแบ่งประเภทของความพิการบนใบหน้าที่เป็นตั้งแต่เกิดได้หลายแบบ
แบ่งว่าเป็นปากแหว่งเพดานโหว่หรือไม่
- ปากแหว่งเพดานโหว่ (cleft lip/palate)
เป็นความพิการแต่กำเนิดบนใบหน้าที่พบบ่อยที่สุด จากการสำรวจโดยสปสช. พบมีปากแหว่งเพดานโหว่ 2.14 คนต่อเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คน - ประเภทที่ไม่ใช่ปากแหว่งเพดานโหว่ (non-cleft lip/palate)
โรคในกลุ่มนี้มีมากมายหลายชนิด รวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่เสียอีก หลาย ๆ โรคไม่ได้พบบ่อยอย่างปากแหว่งเพดานโหว่ แต่มีความรุนแรงมากกว่า เป้นภาระต่อผู้ป่วย ต่อครอบครัว และต่อระบบสาธารณสุขมากกว่าปากแหว่งเพดานโหว่
วิธีการแบ่งประเภทที่แนะนำโดย American Cleft Palate Association
เผยแพร่ในปี 2524 แยกโรคออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
- โรคที่มีรอยแหว่ง (clefts)
- ปากแหว่ง (cleft lip) เพดานโหว่ (cleft palate)
- ใบหน้าแหว่ง (facial clefts) - แบ่งย่อยเป็นหมายเลข 0 ถึง 14 และหมายเลข 30 ทั้งยังรวมถึงโรคใบหน้าเล็กแต่กำเนิด (craniofacial microsomia) และกลุ่มอาการเทรชเชอร์-คอลลินส์ (Treacher-Collins syndrome)
- โรคที่มีกระดูกเชื้อมติดกันผิดปกติ (synostosis)
- แบบที่รอยประสานกะโหลกศีรษะเชื่อมติดเพียงตำแหน่งเดียว (single-sutured craniosynostosis) - ตัวอย่างเช่น ศีรษะรูปสามเหลี่ยมเป็นสันที่หน้าผาก (trigonocephaly จาก metopic craniosynostosis), ศีรษะเบี้ยว (plagiocephaly จาก coronal craniosynostosis), ศีรษะยาวผิดปกติในแนวหน้าหลังคล้ายเรือ (scaphocephaly จาก sagittal craniosynostosis), ศีรษะเบี้ยว (plagiocephaly จาก lambdoid craniosynostosis)
- แบบที่รอยประสานกะโหลกศีรษะเชื่อมติดหลายตำแหน่ง (multiple-sutured craniosynostosis) - ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการครูซอง (Crouzon syndrome) กลุ่มอาการเอเพิร์ต (Apert syndrome) กลุ่มอาการไฟเฟอร์ (Pfeiffer syndrome) กลุ่มอาการมูนคู (Muenke syndrome) กลุ่มอาการคาร์เพนเตอร์ (Carpenter syndrome) กลุ่มอาการเซเตอร์-โชเซน (Saethre-Chotzen syndrome)
- โรคที่มีส่วนของใบหน้าเล็กกว่าปกติ (atrophy-hypoplasia) - ตัวอย่างเช่น
- โรคใบหน้าเหี่ยวแห้ง (progressive hemifacial atrophy หรือ Romberg syndrome)
- ขากรรไกรบนเล็ก (maxillary hypoplasia) ในโรคต่าง ๆ เช่น เพดานโหว่ กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome, mongolism) กลุ่มอาการ blepharonasal facial syndrome โรคหน้าแก่ (cutis laxa)
- ขากรรไกรล่างเล็ก (mandibular hypoplasia) ในโรคต่าง ๆ เช่น โรคปิเแอร์โรแบง (PierrePierre Robin sequence) กลุ่มอาการ aglossia-hypodactyly
- โรคที่มีส่วนของใบหน้าใหญ่กว่าปกติ (neoplasia-hyperplasia) - ตัวอย่างเช่น
- ฮีแมงจิโอมา (hemangiomas)
- เนื้องอกหลอดเลือดฝอย (capillary malformation)
- เนื้องอกหลอดเลือดดำ (venous malformation)
- เนื้องอกหลอดเลือดแดง (arterial malformation)
- เนื้องอกหลอดน้ำเหลือง (lymphangioma)
- ไฟบรัสดิสเพลเซีย (fibrous dysplasia)
- โรคอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจัดเข้าพวก (unclassified) - ตัวอย่างเช่น
- กระบอกตาห่างกันมากกว่าปกติ (orbital hypertelorism)
- โรคงวงช้าง (frontoethmoidal encephalomeningocele)
- ใบหูผิดปกติในลักษณะต่าง ๆ เช่น ใบหูเล็กไม่สมบูรณ์ (microtia)