คลินิกเคลื่อนที่สหวิชาชีพ ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

คลินิกเคลื่อนที่

6 ตุลาคม 2567
คลินิกเคลื่อนที่สหวิชาชีพ ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นจุดเชื่อมโยงผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาเชิงคุณภาพ เน้นการรักษาแบบคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ  ไม่ใช่การออกหน่วย ไม่มีการผ่าตัดจำนวนมาก ๆ ในเวลาอันจำกัด ไม่มีเป้า ไม่มียอดคนไข้

ความพิการผิดรูปของใบหน้าเป็นสิ่งที่มีความรุนแรงเสมอสำหรับตัวผู้ป่วยเอง ไม่ว่าจะเป็นมากน้อยเพียงใด  ปัจจุบันคนส่วนใหญ่รู้จักแต่ปากแหว่งเพดานโหว่ ทั้งที่ความจริงแล้ว ยังมีความพิการอีกมากมายและรุนแรงกว่าปากแหว่งเพดานโหว่ และดูแลรักษาได้ยากกว่าปากแหว่งเพดานโหว่มาก

แม้แต่ปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ที่จัดว่าเป็นความพิการอย่างง่ายแล้ว การดูแลรักษาที่ผู้ป่วยได้รับก็มักไม่ได้คุณภาพเท่ามาตรฐานสากล ผู้ป่วยมักได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดเพียงครั้งหรือสองครั้ง ในขณะที่การดูแลผู้ป่วยเหล่านี้เป็นที่ทราบกันดีว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง และใช้ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา มีทั้งการผ่าตัดและการรักษาที่ไม่ใช่การผ่าตัด การผ่าตัดที่ได้รับบ่อยครั้งทำโดยผู้ที่ไม่ได้ชำนาญอย่างแท้จริง ไม่มีความพร้อมอย่างแท้จริง หรือทำในสภาพเร่งรีบที่เน้นจำนวนมากกว่าคุณภาพ จึงพบมีภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต แต่ถูกปกปิดเอาไว้

ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ อยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาผู้ที่มีความผิดปกติของใบหน้าและศีรษะมานานกว่า 30 ปี เป็นที่รู้จักดีในวงการว่าสามารถจัดการกับความพิการบนใบหน้าที่รุนแรงประเภทต่าง ๆ ไม่เฉพาะปากแหว่งเพดานโหว่

จากประสบการณ์ที่ยาวนานพบว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด  การเดินทางเข้าสู่เมืองหลวงนับเป็นอุปสรรคและความยากลำบากประการหนึ่งที่ซ้ำเติมความโชคร้ายที่เกิดขึ้นกับสมาชิกของครอบครัว  การที่ผู้ป่วยเด็กสักคนจะสามารถเดินทางเข้ามาตรวจรักษาผ่าตัด เป็นความเดือดร้อนของทั้งครอบครัว มีทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ที่พัก ค่าใช้อื่นๆ และการเสียโอกาสในการทำมาหากิน  สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเบิกหรือชดเชยได้ด้วยระบบประกันสุขภาพ

การรักษาหลาย ๆ อย่างก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพ เพราะความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ที่แพร่กระจายไปทั่วประเทศ ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ ศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ จึงได้ริเริ่มแนวทางการช่วยเหลือผู้ป่วยวิธีใหม่ขึ้น และให้ชื่อโดยศ.กิตติคุณ นพ. จรัญ มหาทุมะรัตน์ ว่า คลินิกเคลื่อนที่  เริ่มดำเนินการในปี 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

"ค้นหา รักษา ติดตาม"
คลินิกเคลื่อนที่ 2566 โดยศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ค้นหา

(ก) การค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่

หน่วยงานที่รับผิดชอบ: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เหล่ากาชาดจังหวัด และหน่วยงานต่าง ๆ ใน 76 จังหวัด

วิธีการส่งข้อมูลผู้ป่วย: ทางแบบฟอร์มบนเว็บไซต์นี้ "แบบฟอร์มการส่งตัวออนไลน์" และศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ก็จะได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็ว

คู่มือการดำเนินการ: เพื่อให้ผู้สำรวจเข้าใจขั้นตอนปฎิบัติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น การได้เห็นรูปตัวอย่างผู้ที่มีความผิดปกติ ทำให้พิจารณาได้อย่างถูกต้องว่าควรจะส่งตัวมารับการรักษาหรือไม่

คู่มือโครงการคลินิกเคลื่อนที่ 2566
รักษา

(ข) การตรวจวินิจฉัยและวางแผนรักษาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญสหสาขาวิชาชีพ

หน่วยงานที่รับผิดชอบ: ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

การตรวจผู้ป่วยแบบออนไลน์
ภาพการตรวจออนไลน์

เป็นการตรวจผ่านทางวิดิโอคอล เป็นการเชื่อมผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลเข้ากับทีมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ต้องเสียเวลาเดินทางจากบ้านจากเรือนไปยังเมืองใหญ่จนกว่าจะถึงวาระที่จำเป็น

หมอหมู่ โครงการคลินิกเคลื่อนที่ 2566
ส่วนหนึ่งของทีมสหสาขาวิชาชีพ
ติดตาม

(ค) การติดตามผู้ป่วยให้ได้รับการตรวจรักษาตามแผนที่วางไว้

หน่วยงานที่รับผิดชอบ: ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ จัดให้มีพยาบาลดูแลผู้ป่วย (case manager) ทุกรายอย่างใกล้ชิด   คอยสอบถามความต้องการ ติดตามประสานงานต่าง ๆ เสมือนคนในครอบครัว ช่วยขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการและการตรวจรักษา   พยาบาลดูแลผู้ป่วยเป็นกลไกสำคัญ เชื่อมต่อระหว่างผู้ป่วยกับศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ดูแลกันทั้งกาย ใจ และสังคม