ปัญหาการพูดไม่ชัด

คุณนันทนา ประชาฤทธิ์ภักดี
18 พ.ค. 2553

"พูดอู้อี้ ไม่รู้เรื่อง"
"จมูกอี้มาแล้ว"
"พูดไม่ชัด ไม่ให้เล่นด้วย"

พ่อแม่คงไม่ต้องการให้ลูกถูกเพื่อน ๆ ล้อเช่นนี้  แต่เมื่อถึงวัยเข้าเรียน เป็นปกติวิสัยที่เด็ก ๆ จะล้อเลียนกันถ้าเพื่อนคนใดมีลักษณะที่แตกต่างจากกลุ่ม  ดังนั้นพ่อแม่ต้องเตรียมใจไว้เลยว่า เด็กปากแหว่งเพดานโหว่จะถูกล้อเลียนแน่นอนถ้ามีปัญหาพูดไม่ชัด ถึงแม้จะได้รับการผ่าตัดตกแต่งใบหน้าจนสวยงามแล้วก็ตาม  อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้พ่อแม่สามารถช่วยลูกและเตรียมป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

พ่อแม่ของเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ มักข้องใจว่าปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่จะมีผลกระทบต่อการพูด และพัฒนาการทางภาษาอย่างไร

ถ้าเด็กมีปัญหาปากแหว่งอย่างเดียว ก็จะไม่มีปัญหาการพูด  แต่ถ้ามีปัญหาปากแหว่งสองข้างและเกี่ยวข้องกับเหงือกก็อาจจะมีปัญหาการพูดได้

ส่วนเด็กเพดานโหว่ เนื่องจากมีปัญหาทางโครงสร้างของอวัยวะในการพูด ทำให้การทำงานของอวัยวะเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เด็กไม่ได้หัดใช้อวัยวะในการพูดอย่างถูกต้อง เช่น การดูด การเคี้ยว การกลืน การเป่า ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการการใช้อวัยวะในการพูด  เด็กปากแหว่างเพดานโหว่จึงมีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาการพูด หลายอย่าง ได้แก่

  • ปัญหาพูดไม่ชัด
  • ปัญหาพูดเสียงขึ้นจมูก  พูดเสียงอู้อี้ในจมูก
  • ปัญหาเสียงแหบ  พูดเสียงเบา
  • ปัญหาจังหวะการพูด

เด็กปากแหว่งเพดานโหว่จะมีปัญหาพัฒนาการทางภาษาหรือไม่

โดยอาการของปากแหว่งเพดานโหว่แล้ว เด็กจะไม่มีปัญหาพัฒนาการทางภาษา นอกจากจะมีเป็นกลุ่มอาการโรคอื่นร่วมด้วย (ซึ่งแพทย์จะแจ้งให้พ่อแม่ทราบตั้งแต่แรก)  อย่างไรก็ตาม เด็กอาจจะมีพัฒนาการทางภาษาช้าไม่เหมาะสมกับวัยได้บ้าง เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ อาทิเช่น เด็กอายที่มีใบหน้าประหลาดหรือพูดไม่ชัด ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในตนเอง ไม่ยอมพูดคุยกับเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ  พ่อแม่เด็กเลี้ยงดูแบบปกป้องมากเกินไป ช่วยเหลือเด็กตลอดเวลา จนเด็กไม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาและการพูด  หรือในทางตรงกันข้ามพ่อแม่อายไม่พาเด็กออกไปพบปะบุคคลอื่นๆ ทำให้เด็กขาดโอกาสและประสบการณ์ที่จะพัฒนาทางภาษาและการพูด  เด็กเพดานโหว่บางรายมีปัญหาหูอับเสบหรือปัญหาการได้ยินซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางภาษาได้  หรือเด็กได้รับการผ่าตัดปากแหว่งเพดานโหว่ช้าเกินไป  อีกสาเหตุหนึ่งคือ เด็กต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ่อยครั้ง ทำให้ไม่มีเวลาและขาดโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ภาษาเช่นเด็กในวัยเดียวกัน  อย่างไรก็ตามเด็กปากแหว่งเพดานโหว่สามารถมีพัฒนาการทางภาษาได้ทันและเท่ากับกับเด็กทั่วไปเมื่อมีอายุ 4 ปี ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

พัฒนาการทางภาษาและการพูดของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน และไม่เหมือนกัน  ทั้งยังไม่ขึ้นกับประเภทของปากแหว่งเพดานโหว่ด้วย  พ่อแม่อาจจะกังวลว่าเด็กปากแหว่งเพดานโหว่พูดไม่ชัด ทั้ง ๆ ที่ได้รับการผ่าตัด และปฏิบัติตามคำแนะนำจากนักอรรถบำบัดแล้ว  เด็กทุกคนจะมีช่วงระยะเวลาของช่วงพัฒนาการทางภาษาและการพูดของตนเอง  บางครั้งพ่อแม่กังวลว่าลูกพูดไม่ชัด แต่จริง ๆ แล้วเด็กอาจยังอยู่ในระยะพัฒนาการพูดปรกติ เช่นเดียวกับเด็กเล็ก ๆ ที่ยังควบคุมอวัยวะในการพูดไม่ดี พูดแล้วอาจมีเสียงขึ้นจมูกบ้าง ไม่ชัดบ้าง  แต่ก็ยังไม่จัดว่า เด็กมีปัญหาพูดไม่ชัด  ฉะนั้นพ่อแม่ควรทราบพัฒนาการทางการพูดของเด็กปรกติ (ตาราง) เพื่อใช้เปรียบเทียบ

พัฒนาการเปล่งเสียงพูดของเด็กไทย
อายุ เสียงที่พูดได้ในระดับคำ
2 ปี - 2 ปี 6 เดือน เสียง / ค, น, ม, ย, ห, อ /
2 ปี 7 เดือน - 3 ปี เพิ่ม เสียง / ก, บ, ป, ว /
เสียงวรรณยุกต์
เสียงสระ
เสียงพยัญชนะท้ายคำ (ตัวสะกด)
เสียง / จ, ต, ท, พ, ล /
เสียง / ง, ด /
เสียง / ฟ, ซ, ส /
เสียงควบกล้ำ / กว, คว /
10 ปี ขึ้นไป เพิ่มเสียง / ร /

เมื่อเข้าใจพัฒนาการด้านการพูดแล้ว พ่อแม่ควรสนใจขั้นตอนของพัฒนาการทางภาษาควบคู่กันไปด้วย  เนื่องจากพัฒนาการด้านภาษามีทั้งการรับรู้และการแสดงออก ดังนั้นจึงต้องสังเกตการใช้ภาษาทั้งสองด้าน  พ่อแม่อาจจะสังเกตพฤติกรรมที่เป็นอาการเตือนของพัฒนาการทางภาษาที่ไม่เหมาะสมกับวัย

อาการเตือนที่แสดงว่า เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาช้าไม่เหมาะสมกับวัย
อายุ อาการเตือน
3 เดือน ไม่ตอบสนองต่อเสียงต่างๆ และเสียงพูดของพ่อแม่
6 เดือน ไม่เปล่งเสียงเลย และไม่เอื้อมจับสิ่งของ
8-12 เดือน ไม่สบตากับคนที่มาพูดคุยด้วย
ไม่ ชี้ หรือ ส่งเสียง เพื่อแสดงความต้องการของตนเอง
15-18 เดือน ไม่พูดคำที่ฟังได้ชัดเจนแม้แต่คำเดียว
18-24 เดือน ทำตามคำสั่ง 1 คำสั่งไม่ได้ หรือพูดถ้อยคำ 2 คำยังไม่ได้
2 ปี 6 เดือน ไม่ถามคำถาม และไม่ตอบสนองต่อคำถาม "ใช่" "ไม่ใช่"
3-4 ปี ไม่พูดเป็นประโยค และพูดแล้วคนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง
ไม่ใช้ภาษาในการแก้ไขปัญหา และการเรียนรู้

เพื่อเตรียมความพร้อมให้ลูกพูดได้ชัดเจน พ่อแม่สามารถช่วยได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  • ฟังลูกพูด - ให้เวลารับฟังเวลาลูกพูดด้วย  และถ้าลูกพูดแล้วฟังไม่รู้เรื่อง ต้องบอกให้ลูกรู้ตัวและเข้าใจถึงเสียงที่พูดผิดและช่วยแก้ไข  อย่าปล่อยให้ลูกใช้การพูดที่ผิด ๆ ต่อไป เพราะเด็กจะมีนิสัยการเรียนรู้การพูดผิดโดยไม่รู้ตัว
  • ยอมรับถ้าลูกพูดไม่ชัด - เด็กแต่ละคนมีระดับพัฒนาการทางการพูดไม่เท่ากัน  ถ้าลูกพูดไม่ชัด พ่อแม่ต้องพูดคำหรือเสียงที่ถูกต้อง และให้ลูกพูดตาม  ต้องกระตุ้นพัฒนาการทางการพูดของลูกให้เหมาะสมในแต่ละช่วงของการพัฒนา แต่ไม่เร่งลูกมากเกินไป
  • พูดอย่างชัดเจน - เป็นแบบอย่างที่ดีในการพูด  พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องรบเร้าให้ลูกพูดตามทุกครั้งที่พูดไม่ชัดหรือพูดผิด  แต่พ่อแม่ต้องพูดอย่างชัดเจนถูกต้องและเป็นแบบอย่างที่ดีในการพูด
  • ถ้าลูกมีปัญหาการได้ยินต้องแก้ไข - ถึงแม้เด็กจะมีปัญหาการได้ยินไม่ชัดแบบชั่วคราวก็ตาม แต่ก็จะมีผลต่อการพูดชัดและการใช้ภาษา  พ่อแม่ควรพูดประโยคสั้น ๆ อย่างช้า ๆ และแน่ใจว่าลูกเข้าใจในสิ่งที่พ่อแม่พูดด้วย
  • ถ้าพ่อแม่มีความกังวลใจต่อการพูดและการใช้ภาษาของลูก - ควรพาลูกไปพบนักอรรถบำบัดเพื่อรับการประเมินการพูด  และรับคำแนะนำเพื่อนำมาปฏิบัติ

นอกจากนี้พ่อแม่อาจจะสงสัยว่า เมื่อไรควรจะเริ่มพาลูกมาพบนักอรรถบำบัด  ต้องรอให้ลูกพูดได้ก่อนไหม จริง ๆ แล้วนักอรรถบำบัดจะนัดพบพ่อแม่ของเด็กในช่วงระยะเวลาที่สอดคล้องกับที่เด็กจะได้รับการผ่าตัด  กล่าวคือ จะเริ่มให้คำแนะนำพ่อแม่ตั้งแต่เด็กอายุ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะได้รับการผ่าตัดปิดปากแหว่ง  และจะนัดทุกๆ 3 เดือน จนกระทั่งเด็กอายุ 12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กจะได้รับการผ่าตัดปิดเพดานโหว่ (โดยปกติ อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 9-12 เดือน)  และจะนัดทุก ๆ 6 เดือนจนเด็กอายุ 3 ปี

การนัดหมายและการให้คำแนะนำในช่วงก่อนวัยเรียนมีแนวทางปฏิบัติ ดังตาราง

กำหนดการปฏิบัติทางอรรถบำบัด
ช่วงอายุ การปฏิบัติทางอรรถบำบัด
3 เดือน ให้คำแนะนำการฝึก บริหารอวัยวะในการดูด กลืน เคี้ยว เป่า
6 เดือน และฝึกการเปล่งเสียง ตามขั้นตอนของการพัฒนาการพูด
9 เดือน และภาษาปกติเพื่อเป็นการเตรียมการใช้อวัยวะเหล่านี้ สำหรับเป็นพื้นฐานของ การพูดอย่างชัดเจนต่อไป
12 เดือน,
18 เดือน,
24 เดือน
กระตุ้นพัฒนาการทางภาษาและการพูด
30 เดือน เริ่มแก้ไขการเปล่งเสียงที่ไม่ถูกต้อง
36 เดือน ฝึกแก้ไขเสียงที่ไม่ชัด และการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง

เมื่อเด็กอายุ 3 ปี จะได้รับการประเมินว่าพูดได้ชัดหรือไม่

โดยเด็กจะได้รับการทดสอบการเปล่งเสียงพูดในระดับคำ (articulation test) เพื่อเปรียบเทียบกับพัฒนาการทางการพูดของเด็กปกติ และเป็นพื้นฐานในการแก้ไขเสียงพูดที่ไม่ชัด  หลังจากนี้การนัดหมายจะขึ้นอยู่กับความผิดปกติและระดับความรุนแรงทางการพูดและพัฒนาการทางภาษาของเด็กแต่ละราย

ถ้าเด็กรายใดต้องได้รับการฝึกแก้ไขการพูด เด็กจะได้รับการประเมินการพูดชัด คุณภาพเสียง และจังหวะการพูดเมื่ออายุ 5 ปี

โดยเด็กต้องผ่านการทดสอบการพูดชัดด้วยแบบทดสอบการพูดชัดของจุฬา (Chula articulation test หรือย่อว่า Chula-Art.) ซึ่งเป็นแบบทดสอบการพูดชัดเฉพาะสำหรับเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ไทย  และประเมินคุณภาพเสียงว่ามีปัญหาเสียงขึ้นจมูก เสียงก้องในจมูก หรือเสียงอู้อี้หรือไม่ โดยการทดสอบเสียงนาสิกซึ่งอาจใช้เครื่องมือ nasometer หรือใช้การประเมินจากแบบทดสอบเสียงนาสิก 7 ระดับของจุฬา (Chula 7 point scale nasality test)  นอกจากนี้ นักอรรถบำบัดจะได้สังเกตพฤติกรรมการพูด การใช้ภาษา และการสื่อสารโดยรวมของเด็ก  ฉะนั้นพ่อแม่ควรพาเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่มาพบนักอรรถบำบัดตามระยะเวลา และปฏิบัติตามข้อแนะนำ  เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการทางการพูดและภาษาปกติ หรือให้มีปัญหาน้อยที่สุดก่อนเด็กเข้าเรียน  เพื่อเด็กจะมีความมั่นใจในการพูด สามารถสื่อสารและเข้ากลุ่มกับเพื่อนได้เมื่อถึงวัยเข้าเรียน  และไม่ต้องกลับมาบอกพ่อแม่ว่า "หนูถูกเพื่อนล้อว่าพูดไม่ชัด"