
โครงการเกษตรเติมฝัน
18 ก.ย. 2567
นอกจากการให้การรักษาด้านร่างกายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการแก้ไขความผิดปกติให้มีสุขภาพกายที่ดีและลดความเสี่ยงต่ออวัยวะที่อาจได้รับผลกระทบต่อความผิดปกตินั้น ๆ ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ยังส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะและเสริมความรู้ในการสร้างอาชีพ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนโดยการพึ่งตนเอง
อาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สามารถเรียนรู้ได้ทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวโดยไม่ต้องอาศัยทักษะที่ซับซ้อน สามารถเป็นอาชีพใหม่ของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างแท้จริง ในแต่ละปี จะมีผู้ป่วยและครอบครัวที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 3 วัน ณ ศูนย์เรียนรู้สวนเกษตร โรงเรียนมีชัยพัฒนา จ.บุรีรัมย์ ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้มากมายจากคุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานโรงเรียนมีชัยพัฒนา และทีมวิทยากรจากโรงเรียนมีชัยพัฒนา ภายหลังกิจกรรม ครอบครัวผู้ป่วยสามารถนําความรู้และทักษะไปต่อยอดอาชีพเกษตรที่มีอยู่เดิม

ประวัติความเป็นมา
โครงการนี้ริเริ่มโดยศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ภายหลังการได้พบคุณมีชัย วีระไวทยะ ในการประชุมวิชาการประชุมประจำปี 2562 ของสมาคมความพิการปากแหว่ง เพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย ที่โรงแรมพูลแมนขอนแก่นราชาออคิด จังหวัดขอนแก่น ในครั้งนั้น ศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม และได้เชิญคุณมีชัย วีระไวทยะ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านการศึกษาและสังคมในประเทศไทย จากจุดนั้นเอง ทำให้ศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ได้รู้จักมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ และงานของท่าน หนึ่งในงานที่คุณมีชัย วีระไวทยะ พยายามส่งเสริมมาเป็นเวลานานแล้วคือการเกษตรแนวใหม่ที่ทำให้คนไทยสามารถใช้ในการหาเลี้ยงชีพตนเองได้ แม้จะอยู่ในต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกล ไม่จำเป็นเดินทางเข้าเมืองใหญ่ แก่งแย่งกันทำงานในระบบทุนนิยม ทิ้งลูกหลานให้อยู่บ้านในต่างจังหวัด ศ. นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ จึงเกิดความคิดใหม่ว่า น่าจะนำแนวความคิดของท่านมาช่วยเหลือผู้ป่วยของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ เมื่อนำเรื่องนี้มาหารือในหมู่เจ้าหน้าที่ ก็ได้รับการตอบรับเห็นด้วย ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อโครงการว่า "เกษตรเติมฝัน" โดยคุณชุติมณฑน์ ปัญญาคำ นักจิตวิทยา และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน