'.$description; ?>

Heading for Printing

 

ฝากถึงคุณแม่คุณพ่อ - มาผิดวัน

บทความสำหรับพ่อแม่

วันที่ เรื่อง ผู้แต่ง
24 พ.ค. 2564ที่พักใจในยามที่ใจถูกรุมเร้าชุติมณฑน์ ปัญญาคำ
6 พ.ค. 2563สถานการณ์โควิด 19 กับมิติการดูแลทางสังคมสุฑาทิพย์ คำเที่ยง
15 มี.ค. 25636 เคล็ดลับที่ทำให้ลูกเป็นเด็กดี มีความสุขกิตติมา สุริยกานต์
4 มี.ค. 2563เข็น ...ใจชุติมณฑน์​ ปัญญาคำ
8 พ.ย. 2562รู้เท่าทันอารมณ์ชุติมณฑน์ ปัญญาคำ
12 ก.ย. 2562เรื่องเล่าจากห้องตรวจ ตอนที่ 1 รองเท้าของหนูอาทิติยา แดงสมบูรณ์
21 ม.ค. 2562การสร้างวินัยเชิงบวกกิตติมา สุริยกานต์
3 ม.ค. 2562ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนสุฑาทิพย์ คำเที่ยง
22 ต.ค. 2561โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดสุฑาทิพย์ คำเที่ยง
20 ก.ย. 2561อุปกรณ์เครื่องช่วยฟังกิตติมา สุริยกานต์
20 ส.ค. 2561การเยียวยาสภาพจิตใจผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะกิตติมา สุริยกานต์
15 ส.ค. 2561บัตรประจำตัวคนพิการและสิทธิประโยชน์สุฑาทิพย์ คำเที่ยง
16 ก.ค. 2561สร้างคุณค่าในตนเอง เสริมภูมิคุ้มกันในชีวิตสุฑาทิพย์ คำเที่ยง
19 มิ.ย. 2561ไม่มีที่พักเมื่อจะมาพบแพทย์กิตติมา สุริยกานต์
20 เม.ย. 2561ค่าเดินทางสำคัญอย่างไรกิตติมา สุริยกานต์
6 ก.ค. 2560มาผิดวันนพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์

มาผิดวัน

เล่าเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 60
โดยนพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์

วันนี้มีคุณแม่ที่ยังสาวพร้อมลูกชายอายุ 10 ปี มาที่ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ มาผิดวัน ไม่ใช่วันจันทร์ที่เป็นวันตรวจตามปกติของเรา มาพร้อมจดหมายส่งตัวจากรพ. จังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ตามปกติแล้วผู้ป่วยที่มาผิดวันจะถูกแจ้งให้มาใหม่ให้ถูกวัน แต่ด้วยความที่นโยบายของศูนย์ฯ เราตรงข้ามกัน เราจะพยายามตรวจคนไข้ให้เลยแม้ว่าจะมาผิดวันก็ตาม

เรื่องราวของคุณแม่คนนี้เริ่มต้นที่ ลูกชายเกิดที่โรงพยาบาลอำเภอพร้อมกับสิ่งที่น่าตกใจสำหรับพ่อแม่ คือ ปากแหว่งเพดานโหว่ เด็กน้อยถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดเดียวกันก่อน ซึ่งรักษาไม่ได้ เขาจึงถูกส่งต่อไปอีกจนถึงโรงพยาบาลจังหวัดอีกจังหวัดหนึ่งที่ใหญ่กว่า และได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมาถึง 3 ครั้ง

การถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลอำเภอไปโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าในจังหวัดเดียวกันดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ไม่ง่ายไม่สะดวกสำหรับชาวบ้านในต่างจังหวัดเสมอไป ไม่เหมือนกับพวกเราชาวกรุงที่ลงจากคอนโด ขึ้นรถไฟฟ้าก็ถึง และเมื่อไปถึงที่เสียเวลาไปหนึ่งวันแล้ว รักษาไม่ได้ ต้องถูกส่งไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่อยู่คนละจังหวัด ยิ่งไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับคุณแม่ที่มีลูกตัวน้อยๆ

ตอนอายุ 7 เดือน หนูน้อยได้รับการผ่าตัดแก้ไขปากแหว่ง ตอนขวบกับสองเดือนได้รับการผ่าตัดซ่อมเพดานโหว่ ตอนสองขวบสามเดือนได้รับการผ่าตัดปรับปรุงรูปร่างจมูกอีก ไม่จบแค่นี้ ครึ่งปีก่อนต้องไปผ่าตัดปิดรูเพดานโหว่ที่เหลืออยู่ด้านหน้าอีกครั้ง เพราะมีอาหารและน้ำรั่วขึ้นจมูกมากเกินกว่าจะรับได้ เย็บแล้วข้าวปลาอาหารขึ้นจมูกน้อยลงแต่ยังคงมีน้ำรั่วออกจมูกอยู่ไม่ดีขึ้น คุณหมอที่โรงพยาบาลนั้นก็ได้กรุณาส่งตัวผู้ป่วยมายังศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ ซึ่งเป็นการส่งออกนอกระบบกระทรวงสาธารณสขุ เพราะศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯไม่ได้อยู่ในเส้นทางการส่งต่อของกระทรวงสาธารณสุข เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปกตินักในยุคนี้

แม่เล่าว่า เศรษฐกิจในจังหวัดไม่ดีพอ เงินไม่พอใช้ จำใจมาทำงานกรุงเทพ ทิ้งให้ลูกอยู่กับยายมาตั้งแต่เด็ก (เรื่องแบบนี้ก็คุ้นๆ มาก ได้ยินประจำจากทั้งพ่อแม่คนไข้และพยาบาลรอบๆ ตัว) ผลคือ ลูกถูกล้อเลียนที่โรงเรียนมาโดยตลอด ย้ายมาสองโรงเรียน สุดท้ายเรียนหนังสือไม่เป็นเรื่องเป็นราว ตอนนี้สิบขวบแล้วแต่ยังอ่านหนังสือไม่ได้!

แม่มีเงินแล้ว ตอนนี้ส่งลูกไปเรียนพิเศษ แต่แม่ก็บอกเองว่า ไม่ช่วยอะไรสักเท่าไร

ได้ทำงานในกรุง มีเงินแล้ว แต่ผลละ?

ความหวังคุณแม่คือ อยากให้ลูกกินแล้วไม่มีน้ำหรืออาหารขึ้นจมูก เมื่อถามเพิ่มเติม ก็ได้ทราบว่า ทุกครั้งที่อากาศเย็นหน่อย จะหายใจทางรูจมูกซ้ายไม่ได้เลย

กลับมาที่เด็กน้อยแต่ไม่น้อยแล้ว ตัวใหญ่ทีเดียว น่าจะกินเก่งพอสมควร จากการตรวจ รูปปากสวยใชัได้แล้ว ตัวปีกจมูกซ้ายบิดเบี้ยวไปบ้างไม่มาก แต่ภายในช่องจมูกซ้าย นึกไม่ออกว่าใช้วิธีไหนผ่าตัดมา แต่เกือบตันสนิท ไม่แปลกใจทำไมจึงหายใจทางรูจมูกซ้ายไม่ค่อยได้

มองเข้าไปในปาก มีเหงือกแหว่งด้านซ้าย ด้านเดียวกับปากบนที่เคยแหว่ง หลังต่อเหงือกมีรูที่เพดานปากแค่ 4-5 มิลลิเมตร คิดในใจ “อาหารไม่น่าจะรั่วขึ้นจมูกอะไรได้มากมาย และหมอที่ทำครั้งสุดท้าย ก็ทำได้ดีแล้วนะ” แต่ฟันบนนี่สิ ถูกฟันล่างแซงล้ำไปมากๆ

“แล้วฟันละครับ มีปัญหาไหม” หมอถาม

คุณแม่รีบบอกเลย “ฟันบนมันยุบคะ ส่วนฟันล่างมันยื่นเลยออกมามากไป เคี้ยวอาหารไม่ได้เลย ต้องใช้ฟันข้างๆ และข้างหลังเคี้ยวมาตลอด”

แน่นอนละ โดยตัวโรค ขากรรไกรบนก็ไม่ค่อยจะเจริญเติบโตสักเท่าไรอยู่แล้ว โดนผ่าตัดเพดานไปอีกตั้งสองครั้ง กระดูกกรามบนยิ่งเจริญได้น้อยไปอีก ไม่ทำก็ไม่ได้

มองต่อไปด้านในลึกเข้าไป เพดานปากมีรอยแผลเป็นในแนวกลางจากหน้าไปหลังไม่ต่างจากคนที่เคยผ่าตัดซ่อมเพดานโหว่อื่นๆ เอ้า.. ลองให้ออกเสียงว่า “อาาา” ดู

“อาา...” หนุ่มน้อยออกเสียงในขณะอ้าปากให้ตรวจ

นึกในใจ “อุ๊ต๊ะ เพดานอ่อนไม่ขยับเลยสักนิด แข็งอย่างกับกระดานไม้ ที่แท้เพดานอ่อนที่มันไม่อ่อนนี่เอง ทุกอย่างทั้งลมที่เป็นเสียงพูด อาหารและน้ำ มันน่าจะรั่วออกทางนี้แหละ อ้อมหลังเพดานอ่อนที่แข็งไม่ขยับไปปิดช่องจมูกตามที่ควรจะเป็น เข้าไปในโพรงจมูก”

“หนุ่มครับ ลองนับหนึ่งถึงสิบให้หมอฟังหน่อยสิครับ”

“หนึ่ง สอง สาม... สิบ” หนุ่มน้อยนับอย่างตั้งอกตั้งใจ แต่เสียงที่พูดทุกคำรั่วออกจมูกหมด ราวกับตอนเราพูดพยัญชนะงองูไปทุกคำเลยทีเดียวเชียว แบบนี้เพดานอ่อนของหนูอัมพาตสนิท ไม่ทำหน้าที่เล้ย ปล่อยให้ทุกสิ่งอย่างจากช่องคอหลังต่อลิ้นเข้ามาในช่องจมูกหมด

หมอหยุดเล็กน้อย เรียบเรียงยังไงดี “คุณแม่ครับ ปัญหามันหลายอย่างมากเลยนะครับ แต่ถ้ามาที่นี่แล้ว เราก็จะดูแลรักษากันไปจนโตเป็นผู้ใหญ่เลยนะครับ จนกว่าจะดีที่สุด”

“…​“ คุณแม่เงียบ คงรอฟังอย่างระทึก

ว่าต่อไป “จมูกด้านซ้ายที่หายใจไม่ได้ เมื่อกี้เห็นเลยว่า ข้างใจมันตีบมาก มีรูเหลืออยู่นิดเดียว คงต้องผ่าตัดแก้ไข”

“น้องพูดชัดไหมครับ เพดานอ่อนมันไม่ขยับเลย ไอ้นี่แหละที่เป็นต้นเหตุให้เสียงรั่วออกจมูกได้” ถามคุณแม่พร้อมออกเสียงแสดงตัวอย่างของเสียงที่รั่วออกจมูก

แม่รีบตอบ “ใช่ค่ะๆ พูดแบบนั้นเลย”

“เพดานอ่อนมันมีหน้าที่ยกตัวปิดกั้นไม่ให้อาหาร น้ำ และเสียงพูดออกจมูกนะครับ เท่าที่เห็น เพดานอ่อนมันไม่ขยับเลย แบบนี้เสียงรั่วขึ้นจมูกแน่ๆ และอาจจะเป็นเหตุที่ทำให้น้ำและอาหารย้อนขึ้นจมูกด้วย อาจจะไม่ใช่รูที่เพดานปากเล็กๆ นั่นก็ได้ รูนั้นแค่ 4-5 มิลเองครับ เล็กมาก”

คุณแม่เงียบไป คงงง

“ปกติแล้วเด็กทีเ่ป็นแบบนี้ การเย็บซ่อมปากบนก็เป็นการปิดด้านหน้า การเย็บซ่อมเพดานก็เป็นการซ่อมปิดด้านหลัง แต่เหลือตรงกลาง เหงือกครับ เหงือกก็แหว่งด้วย ซึ่งเราจะผ่าตัดซ่อมเหงือกแหว่งด้วยการปลูกกระดูกตอนโตแล้ว 8-9 ขวบโน่น” คราวนี้อธิบายยืดยาวเลย

“แล้วเวลาเราซ่อมปิดเพดาน เราก็ให้ความสำคัญกับด้านหลังมากกว่า ต้องใช้เนื้อที่มีอยู่จำกัดไปปิดด้านหลังให้ดี เพื่อให้เพดานสามารถยกตัวไปกันแยกช่องคอด้านในออกจากช่องจมูก เพื่อให้พูดได้ชัด โตไป พูดจาได้ชัดเจนเป็นคนปกติ การมีรูเหลือทางด้านหน้าสุดของเพดานนี่เป็นเรื่องถือว่าปกติ ยอมรับได้ อย่างแย่สุดถ้าเย็บปิดรูนั้นไม่สำเร็จเราก็ทำเพดานเทียมมาสวมทับปิดไว้ แต่ถ้าพูดไม่ชัด อนาคตลำบากเลย”

คุณแม่เริ่มพยักหน้าหงึกๆ คงเข้าใจบ้างละ พึมพำเบาๆว่า “อ๋อ..” พร้อมอ้าปากค้างเล็กน้อย

“ที่หมอเขาผ่าตัดไว้นะดีแล้วนะครับ อย่าไปพยายามหาทางผ่าตัดปิดเพดานอะไรอีกเลย ปัญหามันอยู่ที่เพดานอ่อน ตอนนี้มันแข็งมันไม่ทำงาน” สำทับไปอีกที

“เหงือกที่แหว่งอยู่นี่ ต่อไปเราก็ต้องผ่าตัดนะครับ เอากระดูกมาปลูก แต่ก่อนจะทำผ่าตัดได้ เราต้องมีหมอจัดฟันช่วยเตรียมฟันก่อน จนพร้อมแล้วหมอจะผ่าตัดให้” นึกในใจว่า ปกติผ่า 8-9 ขวบนะ นี่ 10 ขวบแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่อย่าบอกคุณแม่ดีกว่า เขาจะเสียใจไปมากกว่านี้

ถามคุณแม่ “แล้วน้องเคยเจอหมอฟันไหมครับ” นึกคำตอบในใจว่า “ไม่เคยแน่ๆ”

“ไม่เคยเลยคะ” คุณแม่ตอบ

เด็กไทย ผู้ใหญ่ไทยด้วย ไม่รู้ว่าต้องมีการตรวจสุขภาพฟันทำความสะอาดขูดหินปูนโดยหมอฟันทุก 6 เดือน ไม่มีใครรู้จริงๆ ถามมาทุกคน 100% ไม่มีคนไข้หรือแม่คนไข้คนไหนรู้เลยครับ!

อธิบายต่อ “การที่จะผ่าตัดปิดเหงือกแหว่งก็ต้องจัดฟันก่อน แต่การที่จะจัดฟันได้ หมอจัดฟันเขาก็จะดูว่าสุขภาพฟันเป็นอย่างไร ถ้าฟันผุเหงือกอักเสบ หมอจัดฟันเขาไม่ทำให้นะครับ”

คราวนี้เน้นๆ “คุณแม่ต้องพาลูกไปทำฟันกับหมอฟันแถวๆ บ้านให้เรียบร้อย ให้ฟันสะอาดเสียก่อน” “หมอจัดฟันที่นี่ก็มี แต่ทางคนไข้ต้องเดินทางมาไกลๆ มาบ่อยๆ จะไหวไหมครับ คิวหมอจัดฟันก็ยาวด้วย อีกทางเลือกหนึ่งคือ ไปหาหมอจัดฟันท่านหนึ่งที่จังหวัดใกล้ๆ บ้านนั่นแหละ ผมได้ขอร้องเขาไว้แล้ว เขาจะช่วยทำให้ การดูแลสุขภาพฟันสำคัญนะ แล้วนี่แม่ก็ไม่ได้อยู่กับลูกไม่ได้เลี้ยงลูกเอง”

คุณแม่เริ่มซึมๆ เล็กน้อย “ได้ค่ะ จะรีบพาไปทำฟัน” แล้วหันหน้าไปพูดกับลูกชาย “ได้ยินมั้ย หมอบอกว่าไง ต้องแปรงฟันนะ”

ผมเลยอธิบายต่อ “ส่วนฟันหน้าที่มันยุบแบบนี้ เป็นเพราะโรคนี้กระดูกขากรรไกรบนมันไม่ค่อยเจริญแบบคนอื่นเขา โตขึ้น 17-18 ปีแล้วจะต้องผ่าตัด ก็ต้องจัดฟันก่อนผ่าหลังผ่า”

คุณแม่ตาโตเลย “โห ทำหลายอย่างจริงๆ”

“ใช่ครับ ถึงบอกไงว่า ปัญหามันหลายอย่าง เราค่อยๆ ทำกันไปนะ จดเบอร์ของที่ศูนย์ฯ ไว้ Facebook ก็มี มีอะไรติดต่อมาได้เสมอ” ปลอบใจบ้าง

“คุณแม่ครับ การที่เราปล่อยให้ลูกอยู่กับยาย ถูกล้อเลียน แล้วก็ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านหนังสือก็ไม่ได้ คุณแม่ก็รู้ว่ามันไม่ดี ต่อไปพวกเราแก่ตัวไป ตายจากไป เขาจะทำอย่างไร ต่อให้ผ่าตัดจนหน้าตาดี แต่พูดไม่ชัด อ่านหนังสือไม่ได้ ไม่มีความรู้ติดตัว ต่อไปจะลำบากนะ”

คุณแม่เริ่มซึมอีกแล้ว

“หมออยากช่วยนะครับ แนะนำว่าให้ส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ แม่อาจจะไม่รู้จัก โรงเรียนนี้รับเด็กไปอยู่กินนอนและไม่คิดค่าเล่าเรียน แต่เขาให้พ่อแม่ทำความดีแก่สังคนเป็นการตอบแทน”

คุณแม่เริ่มทำหน้าตางง

“แม้จะไม่คิดค่าเทอม แต่โรงเรียนเขาดีมากและมีชื่อเสียงมาก ขนาดเพื่อนหมออยู่ไต้หวันเขายังส่งลูกมาอยู่ตั้งสองเดือน มีชาวต่างประเทศมาดูงานมาเรียนตลอด”

“ลูกหมอเองสองคนก็เคยส่งไปอยู่ที่นั่นตอนปิดเทอม เพื่อนหมอเป็นคนมีสตางค์ร่ำรวยอยู่โคราช เขายังเอาลูกออกจากโรงเรียนที่โคราชมาเรียนที่โรงเรียนนี้เลย”

คุณแม่ “เขาให้เรียนฟรีเลยเหรอคะ”

“ใช่ครับ แต่ที่ให้เรียนฟรี ไม่ใช่เขาจะรับทุกคนนะครับ คุณแม่ลองไปคิดแล้วตัดสินใจดูนะ ทางโรงเรียนจะสัมภาษณ์เด็กและพ่อแม่ เขาอาจจะไม่รับก็ได้ แต่ถ้ารับ เขาจะดูแลอย่างดี ไม่ต้องห่วงเรื่องลูกจะถูกล้อเลียน สอนให้อย่างดี มีครูชาวต่างประเทศ สอนทั้งภาษาอังกฤษภาษาจีนด้วย โรงเรียนเขาเน้นสอนเด็กให้เป็นคนดี ช่วยเหลือตัวเองได้”

คุณแม่เริ่มหน้าตาสดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ เราก็จะดูแลน้องเขาอย่างดี เราพาเด็กๆ คนไข้เราไปเที่ยวทุกปีนะครับ ดูหนังก็มี ไปเที่ยวสวนสัตว์สวนสนุก ไปดรีมเวิลด์ก็มี ปัญหาทางร่างกายก็ผ่าตัดกันไป ต้องใช้เวลา ทำกันจนโต เราดูแลคนไข้เราทั้งกาย จิตใจ และทางสังคม”

“ตัวคุณแม่เองลองไปคิดดูนะครับ ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ มีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นบริษัทใหญ่มาก มีสาขาทั่วประเทศ เขายินดีช่วยเหลือคนไข้เราและพ่อแม่ของคนไข้เป็นพิเศษ หากคุณแม่สนใจ เขายินดีรับคุณแม่ไปทำงาน จะได้อยู่ใกล้บ้านได้ดูแลลูกเองด้วย คุณแม่มีอะไรอยากจะถามไหมครับ”

คุณแม่ยิ้มออกแล้ว แต่ทำหน้าฉงน “ดีจังเลยคะ คุณหมอ ทำไมที่ผ่านมาเคยไปหาหมอมา ไม่เคยมีใครแนะนำแบบนี้เลย.. ไม่เคยมีใครถามว่า แม่มีอะไรอยากจะถามไหม ไม่เคยมีเวลาคุยแบบนี้... “ แล้วคุณแม่ก็อึ้งไป ไม่พูดอะไรต่อ

“ไม่เป็นไรนะที่ผ่านมาไม่เป็นไร ต่อไปนี้เรามาเริ่มกันใหม่ ขอให้ถือว่าที่ศูนย์เราเป็นจุดประสาน มีอะไรขัดข้อง มีปัญหาค่าใช้จ่าย อย่ากังวล ติดต่อมาที่เรา เราจะไปจัดการให้ คุณแม่ลองไปคิดดูเรื่องเรียนของลูกและเรื่องงานที่เสนอให้คุณแม่นะครับ”

ถึงคนไข้เขาจะมาผิดวัน แต่ไม่เป็นไรครับ ทำงานเพิ่มขึ้นอีกหน่อย หันหน้าเข้าหาประชาชนและภาคเอกชน เขาไม่เคยทอดทิ้งเรา...