สถานการณ์โควิด 19 กับมิติการดูแลทางสังคม
เล่าเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563
โดยสุฑาทิพย์ คำเที่ยง
สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และปัญหาด้านสุขภาพจิต  นอกจากนี้ปัญหาทางสังคมเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เริ่มพบมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้หญิง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน หรือแม้กระทั่งผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้  หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- การตีตราและการไม่ยอมรับ
การตีตราและการไม่ยอมรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 กลับเข้าสู่ชุมชน หรือครอบครัวของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ถูกชุมชนกีดกันไม่ให้ออกมาใช้ชีวิตตามปกติ นำไปสู่การปกปิดหรือไม่ยอมเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัส ทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ยากขึ้น  นอกจากนี้มีการนำประเด็นการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ไปล้อเลียนหรือสาปแช่งบุคคลที่ตนเองไม่ชอบในโลกสังคมออนไลน์ ทำให้บุคคลเสื่อมเสียชื่อเสียง
หลายหน่วยงานมีการรณรงค์ ให้ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 แก่ประชาชนและชุมชนเพื่อให้มีความรู้ วิธีการดูแลและป้องกันตนเอง นอกจากนี้สร้างการยอมรับและความเข้าใจต่อผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้  มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการตีตราทางสังคม1 โดยให้คนในสังคมตระหนักในการใช้คำพูด การแสดงออกทางกาย และการแสดงความคิดเห็นในสังคมออนไลน์
กรณีบุคคลถูกละเมิดสิทธิหรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โทรสายด่วน 1377 หรือ 02-141-3978-83 หรือถูกละเมิดสิทธิหรือได้รับความเสียหายทางสื่อออนไลน์ สามารถร้องเรียนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร 02-143-8077-8 - ความรุนแรงในครอบครัว
จากสถิติทั่วโลก เช่นในประเทศฝรั่งเศส มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่มีคำสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน  โดยกรุงปารีสมีการแจ้งความเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ส่วนพื้นที่อื่นทั่วประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 32  ในประเทศอังกฤษ คณะกรรมการต่อต้านด้านความรุนแรงในบ้านของอังกฤษและเวลส์ระบุว่า มีการโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในบ้านในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65  สำหรับประเทศไทย ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวพบว่า สถิติเดือนมีนาคม 2563 มีจำนวน 154 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มีจำนวน 144 ราย  และการกระทำด้วยความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำซ้ำบ่อยครั้งขึ้น2  ดังนั้นหากพบเห็นการกระทำความรุนแรง ไม่ควรเพิกเฉยแต่ควรพาผู้กระทำไปที่สถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีหรือโทรแจ้งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ- สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
- กรมกิจการสตรีและครอบครัว โทร 02-306-8746
- มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร 02-2513-1001
- มูลนิธิผู้หญิง โทร 02-433-5149, 02-435-1246
- บ้านพักฉุกเฉิน โทร 02-929-2222
- เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ
เนื่องจากการกักตัวอยู่ในบ้าน ทำให้เด็กส่วนหนึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน   จากสถิติของเครือข่ายด้านการข่มขืน ล่วงละเมิด และการมีเพศสัมพันธ์ในเครือญาติแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือ RAINN เปิดเผยว่า เด็กและเยาวชนได้แจ้งเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีคำสั่งให้ประชาชนทั่วสหรัฐอเมริกากักตัวอยู่ในบ้าน  ถือเป็นเดือนแรกที่ผู้โทรเข้าฮอตไลน์ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี โดยร้อยละ 67 ของจำนวนเยาวชนที่โทรแจ้งเหตุระบุว่า ผู้กระทำเป็นสมาชิกในครอบครัว  และในเด็กกลุ่มนี้ ร้อยละ 79 อาศัยอยู่กับผู้กระทำ3  ดังนั้นหากพบเห็นเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ สามารถโทรแจ้ง 191 เพื่อแจ้งเบาะแสหรือดำเนินคดีหรือโทรแจ้งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
- มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196
- บ้านพักฉุกเฉิน โทร 02-929-2222
- ภาวะเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ของคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน
ข้อมูลจากมูลนิธิ อิสรชน ระบุว่าในปี 2562 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนไร้บ้านของกรุงเทพฯ 4,392 ราย เพิ่มขึ้น 363 คน หรือร้อยละ 10 จากปี 25614  ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีเงินเพียงพอในการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น  และเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐเนื่องจากบางคนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น  นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้คนตกงาน ขาดรายได้ และมีแนวโน้มออกมาเร่ร่อนเพื่อขอรับบริจาคอาหารสิ่งของประทังชีวิตเพิ่มมากขึ้น  ปัจจุบันกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้บริการที่พักชั่วคราวและอาหาร 3 มื้อสำหรับคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และคนตกงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 (24 ชั่วโมง )เพื่อช่วยเหลือประชาชน ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19  โดยมีบ้านพักที่ทางกระทรวงได้จัดเตรียมไว้ให้จำนวน 4 จุด ได้แก่ บ้านมิตรไมตรีอ่อนนุช, บ้านมิตรไมตรีดินแดง, บ้านมิตรไมตรีธนบุรี และ บ้านสร้างโอกาสปทุมธานี - เด็ก ผู้สูงอายุและคนพิการขาดการดูแลที่เหมาะสม
โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในครอบครัวเปราะบาง คนในครอบครัวไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จากการถูกเลิกจ้าง เกิดภาวะว่างงาน รายได้ลดลง ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้  สามารถประสานสำนักงานเขต อบต. หรือพัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัด เพื่อขอรับเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์และระเบียบของเงินสงเคราะห์ต่าง ๆ อาทิ เงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย และเงินสงเคราะห์กรณีฉุกเฉิน เป็นต้น  เมื่อผ่านการพิจารณาจากนักสังคมสงเคราะห์แล้วเห็นสมควรในการช่วยเหลือ จึงจะมีการจ่ายเงินเยียวยารายละไม่เกิน 2,000 บาท  นอกจากนี้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีมาตรการให้เงินช่วยเหลือคนพิการ โดยแบ่งเป็น5- การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาคนพิการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19  เฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จะจัดสรรให้คนละ 1,000 บาท โดยจ่ายเพียงครั้งเดียวภายในเดือนเม.ย.2563
- การพักชำระหนี้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่กู้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 ถึงเดือน มี.ค. 2564
- คนพิการและผู้ดูแลคนพิการสามารถกู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อประกอบอาชีพในสภาวะวิกฤติโควิด 19 ในวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย  โดยผ่อนชำระภายใน 5 ปี และปลอดชำระหนี้ในปีแรก  สามารถยื่นกู้ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางออนไลน์ www.dep.go.th และศูนย์บริการคนพิการจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2563  สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โทร.02-354-3388
- การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
เนื่องจากมีการเลื่อนการเปิดเทอม เด็กวัยเรียนส่วนใหญ่มีเวลาว่างมากขึ้น อาจมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางเพศและมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ป้องกัน ทำให้เกิดภาวะความเสี่ยงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์  หากพบปัญหาหรือต้องการขอรับการปรึกษา ติดต่อได้ที่- สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663 ตั้งแต่เวลา 9.00-21.00 น. ทุกวัน
- บ้านพักฉุกเฉิน โทร 02-929-2222
โรคติดเชื้อไวรัสโควิด19 เป็นโรคอุบัติใหม่ทำให้มีการแพร่เชื้อในวงกว้างและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้  การป้องกันที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการรวมกลุ่มชุมนุม กักตัวอยู่ภายในบ้าน ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน และล้างมือเป็นประจำ  ขณะเดียวกันผล กระทบที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ปัญหาด้านสุขภาพจิต และปัญหาทางสังคม ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม ในการเฝ้าระวัง ดูแลและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการอย่างครอบคลุม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์นี้
อ่านเพิ่มเติม1https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/covid19-stigma-guide-th-final.pdf
อ้างอิง
2https://www.prachachat.net/general/news-444654
3https://voicetv.co.th/read/Rv6WeGVuR
4https://www.isranews.org/isranews-news/81384-news-81384.html
5http://thainews.prd.go.th/th/news/print_news/TCATG200403123019963