อุปกรณ์เครื่องช่วยฟังกับการดูแลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะ
เล่าเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 61
โดยกิตติมา สุริยกานต์
ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ และผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจหูเพื่อประเมินระดับความสามารถในการรับฟังเสียงด้วยการตรวจพิเศษเพื่อทราบความรุนแรงของโรค หากผู้ป่วยรายใดตรวจพบว่ามีปัญหาการได้ยินไม่ชัดแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นหูหนวกสนิท แพทย์อาจประเมินให้ใช้เครื่องช่วยฟัง โดยผู้ป่วยสามารถเบิกเครื่องช่วยฟังได้จากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทั่วประเทศ โดยมีการจัดลำดับคิวในการขอรับความช่วยเหลือ ในส่วนกลางกรุงเทพมหานคร มี โรงพยาบาลจำนวน 10 แห่งที่ให้บริการ ดังนี้
- โรงพยาบาลสงฆ์
- โรงพยาบาลราชวิถี
- โรงพยาบาลกลาง
- โรงพยาบาลตากสิน
- โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ
- โรงพยาบาลเด็ก
- โรงพยาบาลตำรวจ
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนลหนองแขม
- โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
หลักเกณฑ์การขอรับเครื่องช่วยฟัง กรณีมีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า
- ผู้ป่วยต้องมีสมุดประจำตัวคนพิการ
- สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประเภทผู้พิการ
- เครื่องช่วยฟังจะเบิกได้แต่ละครั้ง ภายใน 3 ปี
กรณีเบิกเครื่องช่วยฟังในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่มีบริการให้เบิกเครื่องช่วยฟัง
- สิทธิราชการ สามารถขอรับบริการเบิกเครื่องช่วยฟังได้ทีละข้าง โดยมีระยะห่าง 3 เดือน จึงจะสามารถเบิกได้อีกข้างหนึ่งได้
- สิทธิประกันสังคม ผู้ป่วยต้องสำรองจ่าย และสามารถไปเบิกเงินคืนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ได้ ข้างละ 13,500 บาท
ในกรณีเป็นผู้ป่วยของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตน์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ การเบิกเครื่องช่วยฟังตามสิทธิในบางพื้นที่อาจต้องรอคิวนาน ผู้ป่วยบางรายไม่ได้ใส่เครื่องช่วยฟังอย่างทันท่วงที อาจจะมีผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการได้ยินและการสื่อสาร  ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ได้รับการประเมินจากแพทย์แล้วว่ามีความจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยฟัง และไปขอรับเครื่องช่วยฟังในเขตพื้นที่ให้บริการตามสิทธิแล้วมีความล่าช้า จะถูกส่งมาพบกับนักสังคมสงเคราะห์เพื่อการประเมินการให้ความช่วยเหลือเรื่องเครื่องช่วยฟัง หากพบว่ามีปัญหาเศรษฐกิจจริง จะพิจารณาให้ใช้กองทุนของศูนย์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะในการซื้อเครื่องช่วยฟังให้ผู้ป่วย เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย