'.$description; ?>

Heading for Printing

 
ย้อนกลับ | กะโหลกเชื่อมติดกันผิดปกติ | กระบอกตาห่างกันมากกว่าปกติ | ใบหน้าเล็กแต่กำเนิด | โรคงวงช้าง | ใบหน้าแหว่งแต่กำเนิด | กลุ่มอาการเทรชเชอร์ คอลลินส์ | ใบหูเล็กไม่สมบูรณ์ | ใบหน้าเหี่ยวแห้ง |

โรคงวงช้าง (Frontoethmoidal Encephalomeningocele)

นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์
14 เม.ย. 58

จัดทำโดยหน่วยประชาสัมพันธ์ สำนักงานกลาง สภากาชาดไทย ปี พ.ศ. 2541 (ผู้เขียนบท นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์, ผู้บรรยาย พญ.เพ็ญพักตร์ เกริกมธุกร และนพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์)
โรคงวงช้าง ก่อนและหลังผ่าตัด

เป็นความพิการแต่กำเนิดที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพราะมีก้อนงอกออกมาตรงดั้งจมูกระหว่างตาทั้งสองข้าง มีขนาดต่างๆกันตั้งแต่ขนาดเท่าเม็ดถั่วหรืออาจใหญ่มากจนมีลักษณะคล้ายงวงของช้าง ชาวบ้านจึงเรียกว่า โรคงวงช้าง

ความผิดปกตินี้เกิดจากมีรูรั่วในกะโหลกศีรษะส่วนหน้าตรงตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดาช่วง 3 เดือนแรก  และก้อนที่ยื่นออกมาจะประกอบด้วยน้ำหล่อสมองและ/หรือเนื้อสมองอยู่ภายในถุงผิวหนัง

โรคนี้พบความชุกชุมประมาณ 1 ราย ต่อเด็กที่เกิดมา 5,000 ราย พบมากในแถบประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย ลาว เขมร มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พบน้อยมากในหมู่ประเทศตะวันตก จีน เวียตนาม ฯลฯ

ในประเทศไทยพบชุกชุมในภาคอิสาน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน พบในครอบครัวที่เป็นไทยแท้และมีฐานะยากจน และมักพบในครรภ์มารดาที่หยุดพักการตั้งครรภ์มานานราว ๆ 10 ปีแล้วมีลูก

การตรวจวินิจฉัย

โรคงวงช้างนอกเหนือจากมีความผิดปกติที่มีก้อนบนใบหน้าแล้ว ผนังกระบอกตาด้านในจะถูกเบียดให้ห่างจากกันมากกว่าปกติ จมูกยาวกว่าปกติ ฯลฯ มักมีความผิดปกติในสมองร่วมด้วยราวๆ 60% ดังนั้นจึงควรทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CAT scan) ทุกราย การตรวจรักษาควรทำเป็นแบบสหสาขาจากแพทย์หลายสาขาวิชา

การรักษา

ควรทำผ่าตัดผู้ป่วยในระยะขวบปีแรก เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจตามมา ได้แก่

  • ปัญหาการทำงานของสมอง
  • ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุเข้าบนก้อนสมองที่ยื่นออกมา
  • ปัญหาการติดเชื้อที่อาจเข้าถึงสมองได้โดยง่าย
  • ปัญหาสายตาที่ถูกบดบังและลูกตาที่อยู่ห่างจากกันมากกว่าปกติ
  • ปัญหาก้อนมาทับจมูกทำให้หายใจลำบาก
  • ปัญหาความสวยงาม, การเข้าสังคม

การรักษาก็โดยการผ่าตัดร่วมกันระหว่างศัลยแพทย์ตกแต่งและประสาทศัลยแพทย์ โดยมีวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ให้ยาระงับความรู้สึก  โดยหลักการรักษาก็คือ อุดรูรั่วตรงฐานกะโหลกศีรษะส่วนหน้า ตัดก้อนออก ผ่าตัดเคลื่อนย้ายกระบอกตาด้านในให้เข้ามาหากัน ตกแต่งและเสริมจมูก ฯลฯ โดยใช้วิธี "จุฬาเทคนิค"

การผ่าตัดรักษาโรคงวงช้างโดยทั่วไป แพทย์จะเปิดกะโหลกศีรษะหน้าผากส่วนบน (frontal craniotomy) กันสมองไว้ ตัดก้อนออก เคลื่อนย้ายกระบอกตาเข้าหากัน  แต่ "วิธีจุฬาเทคนิค" มีความพิเศษที่ต่างจากวิธีที่ทำทั่วๆไป คือ เป็นวิธีที่ไม่ต้องเปิดกะโหลกหน้าผากส่วนบน แต่จะเปิดเจาะกระดูกตรงโคนดั้งจมูกเป็นรูปตัว T เล็กๆ ตัดก้อนออก เย็บปิดรูรั่ว เคลื่อนย้ายกระดูกกระบอกตาเฉพาะด้านในให้เข้ามาหากัน ตกแต่งเสริมจมูก  วิธีนี้จึงเป็นวิธีผ่าตัดที่ทำได้ง่ายได้ผลดีกว่าวิธีอื่น คือ

  • สมองไม่ถูกกดดันระหว่างผ่าตัด จึงไม่ได้รับผลกระทบกระเทือน ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวเร็ว
  • ร่นระยะเวลาผ่าตัดให้สั้นลง, การดมยาสลบน้อยลง
  • ความเสี่ยงต่างๆ น้อยลง เช่น ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายระหว่างผ่าตัด, ระยะพักฟื้น ฯลฯ

ดังนั้น วิธีผ่าตัดรักษาโรคงวงช้างโดย "วิธีจุฬาเทคนิค" จึงเป็นวิธีที่ดีและเหมาะสม ที่กำลังแพร่หลายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ เป็นการเผยแพร่พระนาม "จุฬาลงกรณ์" ให้ขจรขจายไปทั่วโลกด้วย

การทำผ่าตัดแก้ไขโรคงวงช้างโดยวิธี "จุฬาเทคนิค"