'.$description; ?>

Heading for Printing

 
ย้อนกลับ | กะโหลกเชื่อมติดกันผิดปกติ | กระบอกตาห่างกันมากกว่าปกติ | ใบหน้าเล็กแต่กำเนิด | โรคงวงช้าง | ใบหน้าแหว่งแต่กำเนิด | กลุ่มอาการเทรชเชอร์ คอลลินส์ | ใบหูเล็กไม่สมบูรณ์ | ใบหน้าเหี่ยวแห้ง |

ใบหูเล็กไม่สมบูรณ์

นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์
27 ส.ค. 62

ในขณะที่พวกเรายังเป็นลูกอ่อนอยู่ในครรภ์มารดา มีการสร้างก้อนเนื้อเล็ก ๆ 6 อันที่ด้านข้างของส่วนหัว  ก้อนเนื้อนูน ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ รวมตัวกันจนกลายเป็นใบหูในที่สุด  หากมีเหตุใด ๆ ก็ตามที่ทำให้การวมตัวของก้อนเนื้อเหล่านี้ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ก็จะพบใบหูที่มีขนาดเล็กกว่าปกติหรือมีลักษณะโครงสร้างรายละเอียดของใบไม่สมบูรณ์

ลักษณะใบหูที่เล็กไม่สมบูรณ์นี้พบเป็นความผิดปกติเพียงอย่างเดียวหรือเกิดร่วมกับความผิดปกติอย่างอื่นของใบหน้า  ที่พบร่วมกันบ่อย ๆ คือ โรคใบหน้าเล็กแต่กำเนิด

การตรวจวินิจฉัย

ผู้ที่มีภาวะใบหูเล็กไม่สมบูรณ์ นอกจากจะมีความผิดรูปที่เห็นได้ชัดเจนจากภายนอก ผู้ป่วยเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงที่จะมีการพัฒนาของหูชั้นกลางที่ผิดปกติ และอาจมีภาวะขากรรไกรล่างเติบโตน้อยกว่าปกติร่วมด้วย เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อเดียวกันในขณะที่เป็นตัวอ่อน ผู้ป่วยเหล่านี้จึงควรได้รับการตรวจการได้ยินโดยโสต ศอ นาสิกแพทย์ เพราะผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้านการได้ยินและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อให้ผู้ป่วยมีการพัฒนาการทางภาษาที่เป็นปกติ รวมทั้งต้องติดตามการเจริญเติบโตของใบหน้าทั้งสองด้าน

การรักษา

การสร้างใบหูใหม่ให้แก่ผู้ป่วยสามารถกระทำได้โดย 2 วิธีหลัก คือ ทำใบหูใหม่ด้วยกระดูกอ่อนของผู้ป่วยเอง หรือใช้ใบหูเทียม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าการสร้างใบหูใหม่ด้วยกระดูกอ่อนเป็นวิธีมาตรฐานที่ได้ผลดีที่สุด แต่ก็เป็นวิธีที่ซับซ้อนกว่าการใช้ใบหูเทียม จำเป็นต้องใช้กระดูกอ่อนซี่โครงปริมาณมากและต้องผ่าตัดอย่างน้อย 2 ครั้งกว่าจะได้ใบหูที่ดูใกล้เคียงกับธรรมชาติ

การจะทำผ่าตัดต้องรอให้ใบหูข้างปกติเจริญเติบโตจนเต็มที่ก่อน และมีประมาณกระดูกอ่อนซี่โครงเพียงพอที่จะใช้สร้างใบหูใหม่ โดยทั่วไปจะเป็นช่วงอายุประมาณ 10 ปีขึ้นไป

การผ่าตัดในขั้นตอนแรก คือ การนำกระดูกซี่โครงมาสร้างใบหูใหม่ แล้วฝังโครงใบหูใหม่ลงไปตรงขมับบริเวณที่ควรจะเป็นใบหู หลังจากนั้นต้องมีทำการยกใบหูให้กางออกจากกะโหลกศีรษะบริเวณขมับเป็นขั้นตอนที่สอง ใบหูที่ได้จากวิธีการนี้จะมีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุดและดูแลรักษาง่ายที่สุดในระยะยาว

การใช้ใบหูเทียมอาจจะดูเหมือนสะดวกสบายในระยะแรก แต่การจะยึดใบหูเทียมให้ติดกับร่างกายตลอดเวลาไม่ว่าจะด้วยวิธีการใช้กาวหรือคลิปแม่เหล็กนั้นทำได้ยุ่งยาก รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ฝังลงในกระดูกบริเวณขมัยเพื่อยึดใบหูเทียมก็มีราคาแพงมาก และจำเป็นต้องระวังเรื่องการติดเชื้อตรงตำแหน่งที่ใช้ติดใบหูเทียมไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ใบหูเทียมอาจจะหลุดได้ขณะที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่สุดของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนใบหูเทียมทุกๆ 2-3 ปี เนื่องจากการเสื่อมสภาพของวัสดุที่ใช้ทำใบหูเทียม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าในระยะยาว